ความรู้เกี่ยวกับการผลิตวีดิทัศน์
ความหมายของสื่อวิดีทัศน์
วิดีทัศน์นั้น เรียกกันโดยทั่วไปว่า วิดีโอ (Video) ตามพจนานุกรมเว็บสเตอร์ อ่านว่า “วิดดีโอ” ภาษาลาตินแปลว่า “ฉันเห็น” ( I see) คำว่า วิดีโอ นี้ ศัพท์พจนานุกรมสื่อสารมวลชนของคณะวารสาร-ศาสตร์ และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความหมายว่า ส่วนที่มองเห็น (Visual) หรือส่วนที่เป็นภาพ (Picture, Image) ในรายการวิทยุโทรทัศน์ หรือจากการฉายภาพ หรือภาพยนตร์ซึ่งแตกต่างจากส่วนของเสียง (Audio) หรือส่วนที่ทำให้หูได้ยิน
ความหมายของสื่อวิดีทัศน์
ในพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ของสอ เสถบุตร ฉบับคอมพิวเตอร์ ให้ความหมายว่า “ คำว่า video (ฝีด-อิโอ) n. adj. หมายถึง
1. เกี่ยวกับการเห็น
2. ส่วนของเครื่องรับ และส่งโทรทัศน์ ที่เกี่ยวกับภาพ อีกแห่งหนึ่งให้ความหมายกว้างแบบครอบคลุมว่า “ คำว่า วิดีทัศน์ (Video) นี้ หมายถึง ภาพหรืออะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงภาพ แต่ในทางคอมพิวเตอร์ หมายถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะช่วยทำให้มีการแสดงภาพบนจอได้ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมเกี่ยวกับภาพ จานบันทึกที่ใช้เก็บภาพ หน่วยประมวลผลที่สามารถประมวลผลภาพได้ และเรามักใช้คำนี้นำหน้าคำอื่น เช่น video disk, video conference เป็นต้น”
หนังสือวารสารวิดีโอ (Video Magazine)
ได้ให้ความหมายวิดีทัศน์ หรือภาพทัศน์ในเชิงของสื่อทางศิลปะไว้ว่า วิดีทัศน์ หรือภาพทัศน์ คือ การประยุกต์ศิลปะการแสดง นำเสนอผู้ชมให้เกิดความรู้สึกอารมณ์ที่พึงประสงค์ของผู้อำนวยการสร้าง ซึ่งก็หมายถึง สื่อหรือเครื่องมือที่ใช้ในการถ่ายทอดศิลปะ และอารมณ์แก่ผู้ชม ทั้งเป็นศิลปะของการผลิต และนำเสนอแก่ผู้ชม ( อ้างจาก นิพนธ์ ศุขปรีดี. “ความหมายของภาพทัศน์” เอกสารการสอนชุดวิชา ความรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับภาพนิ่งและภาพยนตร์ หน่วยที่ 1. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2542 : น. 41 – 42 )
คุณค่า และคุณประโยชน์ของสื่อโทรทัศน์/วิดีทัศน์ด้านการเรียนการสอน
ในบรรดาสื่อการสอนที่ได้นำไปใช้เป็นเครื่องช่วยการเรียนการสอนนั้น สื่อวิดีทัศน์เป็นสื่อหนึ่งที่เข้ามามีบทบาท และอิทธิพลต่อการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะคุณสมบัติของวิดีทัศน์เอื้ออำนวยให้เกิดประโยชน์ในการศึกษาหลายประการ (นภาภรณ์ อัจฉริยะกุล และพิไลพรรณ ปุกหุต. เอกสารการสอนชุดวิชา ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับภาพนิ่งและภาพยนตร์ หน่วยที่ 14. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2542 : น. 1059 – 1060 )
คุณค่า และคุณประโยชน์ของสื่อด้านการเรียนการสอน
1. สามารถนำสิ่งที่อยู่ภายนอกห้องเรียนเข้ามาสู่นักเรียนในห้องได้
2. สามารถใช้เทคนิคในการถ่ายทำเพื่อให้นักเรียนได้เห็นสิ่งที่เล็กมาก ๆ ได้อย่างชัดเจนด้วยตาเปล่า ทั้งนี้ก็ด้วยวิธีการถ่ายทำ คือ การจับภาพระยะใกล้ (Close up) (Extreme Close up) หรือให้ได้เห็นภาพแบบกว้างไกล ( Long shot and Wide angle)
3. สามารถใช้เทคนิคการถ่ายทำให้นักเรียนเห็น และเกิดความเข้าใจในกระบวนการบางอย่างซึ่งมนุษย์เราไม่สามารถเห็นได้ตามปกติ เช่น เทคนิคการถ่ายทำภาพอนิเมชั่น (Animation) ช่วยทำให้สิ่งที่ไม่มีชีวิตเคลื่อนไหวได้เหมือนกับสิ่งมีชีวิต
4. สามารถใช้เทคนิคการซ้อนภาพ (Superimposition) จากแหล่งสัญญาณภาพ 2 แหล่งให้ปรากฏอยู่ในจอได้ในเวลาเดียวกัน
5. สามารถเสนอภาพ และเสียงจากสื่ออื่น ๆ ที่ใช้กันในสถานการณ์การเรียนการสอนได้เกือบ ทุกชนิด ซึ่งทำให้รายการสอนนั้นน่าสนใจ และชวนให้น่าติดตามมากขึ้น
6. สามารถตัดต่อแก้ไข หรือเพิ่มเติมเนื้อหาให้ทันสมัยอยู่เสมอ ทำให้การเรียนการสอนเกิดประโยชน์ตรงกับความต้องการของผู้สอน โดยไม่สิ้นเปลืองเวลา และค่าใช้จ่ายมากขึ้น
7. สามารถเผยแพร่ความรู้ออกไปได้อย่างกว้างขวาง เครื่องมือที่ใช้ในการบันทึกภาพมีขนาดเล็ก จึงสามารถนำไปถ่ายทำรายการได้สะดวก สามารถบันทึกเหตุการณ์ หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ในทันที และเก็บไว้สอนต่อไปได้ไม่จำกัดเวลา และสถานที่ และเมื่อสอบไปแล้วจะนำมาสอนอีกกี่ครั้งก็ได้
8. วีดิทัศน์ เอื้ออำนวยให้การเรียนการสอนเกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ เพราะสามารถดูซ้ำได้หลายครั้งจนกว่าจะเข้าใจหรือจดจำได้
9. วิดีทัศน์สามารถช่วยครูผู้สอนได้ด้วยการบันทึกภาพการสอนของครู แล้วนำมาเปิดชมเพื่อตรวจสอบความบกพร่อง และข้อผิดพลาดนั้น ๆ เพื่อพัฒนาการสอนให้ได้ผลดียิ่งขึ้นได้ตลอดเวลา
ข้อดีของวิดีทัศน์
1. วิดีทัศน์เป็นสื่อที่รวมเอาสื่อชนิดอื่น ๆ ไว้ในตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง และภาพยนตร์ จึงทำให้มีประสิทธิภาพในการถ่ายทอดสารต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
2. ภาพ และเสียงที่แสดงออกมาสามารถเร้าอารมณ์ และจูงใจในการติดตามได้เป็นอย่างดี
3. ความสามารถทางเทคนิคในการทำภาพพิเศษต่าง ๆ (Special effect) ย่อมช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น
4. การนำเสนอสารทางโทรทัศน์ทำได้หลายรูปแบบที่ให้ความเหมาะสมกับสารนั้นๆและกลุ่มผู้ชม
5. โทรทัศน์มีอิทธิพลต่อจิตใจผู้คนสูง ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมทางวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ เพราะโทรทัศน์เป็นสื่อที่จะทำให้ผู้ชมรู้สึกคล้อยตามได้ง่าย
6. ผู้ชมสามารถชมรายการทางโทรทัศน์ได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะจากรายการออกอากาศ การส่งไปตามสายเคเบิ้ล การยืมเทปวิดีทัศน์มาชมเอง ฯลฯ ทำให้ผู้ชมมีทางเลือกได้ตามความเหมาะสมของแต่ละคน
โทรทัศน์และวีดิทัศน์สามารถเพิ่มพูนประสบการณ์ของผู้เรียนให้กว้างขวางกว่า ใน 3 ด้านด้วยกัน คือ
1. ประสบการณ์ในมิติแห่งความจริง (Reality) เช่น โทรทัศน์และวิดีทัศน์เปิดโอกาสให้ได้เห็น ได้เรียนรู้เกี่ยวกับกฎแห่งแรงโน้มถ่วง โดยการหย่อนวัตถุลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ที่บินอยู่ในระดับความสูง 100 เมตร เป็นต้น
2. ประสบการณ์ในมิติแห่งกาลเวลา (Time) เช่น โทรทัศน์และวิดีทัศน์นำภาพเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มาเสนอใหม่ หรือนำเสนอภาพการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วของวัตถุด้วยเทคนิคภาพช้า (Slow motion) ได้ เป็นต้น
3. ประสบการณ์ในมิติของสถานที่ (Space) เช่น โทรทัศน์และวิดีทัศน์นำภาพทะเลสาบ ภูเขาไฟ วิวทิวทัศน์ หรือขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศอื่นมาให้เราชมได้ เป็นต้น
รูปแบบรายการโทรทัศน์/วิดีทัศน์ด้านการศึกษาหรือการเรียนการสอน
1. รายการแบบการบรรยาย ( Lecture) เป็นการบรรยายคนเดียว อาจทำเป็นรายการโทรทัศน์ได้ ทั้งในสถาบันการศึกษา และนอกสถาบันการศึกษา
2. รายการแบบสนทนา (Interview) เป็นลักษณะของรายการที่สร้างผู้ติดตามปัญหาต่าง ๆ แทน ผู้ชมทางหน้าเครื่องรับโทรทัศน์ อาจจัดในรูปของผู้ร่วมสนทนามีวิทยากรและพิธีกร
3. รายการแบบสาธิต เป็นลักษณะรูปแบบที่มีการแสดง ทดลอง หรือทำให้ดู ผู้ร่วมรายการอาจมี 1 คน 2 คน หรือหลายคนก็ได้ แล้วแต่ว่าจะสาธิตอะไร อย่างไร
4. รายการแบบจำลอง อาจจัดเป็นรูปแบบจำลองจากของจริง การจัดฉาก หรือผู้แสดงก็ได้ การจำลองทำให้ผู้ชมมีโอกาสได้ชมเช่นเดียวกับการแสดงของจริง
5. รายการละคร เป็นการแสดงละครหรือการละเล่นเป็นเรื่องราวมีผู้แสดงเช่นเดียวกับละครบันเทิงทางโทรทัศน์ทั่วไป แต่ในเนื้อเรื่องให้ความรู้สาระประโยชน์โดยแทรกการเรียนการสอนต่อผู้ชม
รูปแบบ (Format) หมายถึง วิธีการ และลีลาการนำเสนอเนื้อหาสาระ และสิ่งที่อยู่ในรายการ โทรทัศน์ ซึ่งจำแนกได้หลายรูปแบบ ดังต่อไปนี้
รูปแบบรายการพูด หรือบรรยายคนเดียว
รูปแบบรายการสนทนา
รูปแบบรายการอภิปราย
รูปแบบรายการสัมภาษณ์
รูปแบบรายการเกมส์ หรือการตอบปัญหา
รูปแบบรายการสารคดี
รูปแบบรายการละคร
รูปแบบรายการสารละคร
รูปแบบรายการสาธิต / ทดลอง
รูปแบบรายการเพลง และดนตรี
รูปแบบรายการนิตยสาร
รูปแบบรายการถ่ายทอดสด
รูปแบบรายการข่าว
รูปแบบรายการสถานการณ์จำลอง
รูปแบบรายการสอนแบบจุลภาค
รูปแบบรายการสอนโดยตรง
รูปแบบรายการบทความ
รูปแบบรายการโต้วาที